วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความก้าวหน้าของอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย

อินเตอร์เน็ตคืออะไร

ในสังคมยุคข่าวสารเช่นปัจจุบันนี้ แทบจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า “อินเตอร์เน็ต” เหตุเพราะอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากในโลกนี้ไปแล้ว ประมาณกันว่าในแต่ละวันมีผู้คนมากกว่า 50 ล้านคนในประเทศต่างๆ กว่า 150 ประเทศทั่วโลกกำลังใช้อินเตอร์เน็ตกันอยู่ อาจเป็นนักศึกษาคนหนึ่งในประเทศออสเตรเลียที่กำลังสืบค้นข้อมูลจากห้องสมุดแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นกำลังสั่งซื้อหนังสือจากประเทศไทย เป็นต้น การประกอบกิจกรรมต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตดังที่ได้กล่าวมานี้ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นภาพของการสื่อสารที่ไร้พรมแดนได้อย่างชัดเจน
การใช้อินเตอร์เน็ตในปัจจุบันได้ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น โดยได้ก้าวล่วงเข้าไปในทุกสาขาอาชีพ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะด้านการศึกษาหรือการวิจัยเหมือนเมื่อเริ่มมีการใช้อินเตอร์เน็ตใหม่ๆ ด้วยคุณสมบัติการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และใช้ต้นทุนในการลงทุนต่ำ ทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาขององค์กรทั้งหลาย ได้มีความพยายามนำอินเตอร์เน็ตมาใช้เพื่อประโยชน์สำหรับหน่วยงานของตนในรูปแบบต่างๆ อาทิ การประชาสัมพันธ์องค์กร การโฆษณาสินค้า การค้าขาย การติดต่อสื่อสาร ฯลฯ นอกจากนี้อินเตอร์เน็ตยังกลายเป็นอีกสื่อหนึ่งของความบันเทิงภายในครอบครัวไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือพิมพ์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่สามารถกระทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้ทั้งสิ้น
1. ความหมายของอินเตอร์เน็ต
“อินเตอร์เน็ต” มาจากคำว่า International Network เป็นเครือข่ายของการสื่อสารข้อมูลขนาดใหญ่ อันประกอบด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์จำนวนมาก เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน
คำว่า “เครือข่าย” หมายถึง
1. การที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไป เชื่อมต่อเข้าด้วยกันด้วยสายเคเบิล (ทางตรง) และหรือสายโทรศัพท์ (ทางอ้อม)
2. มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์
3. มีการถ่ายเทข้อมูลระหว่างกัน
2. หน้าที่และความสำคัญของอินเตอร์เน็ต
การสื่อสารในยุคปัจจุบันที่กล่าวขานกันว่าเป็นยุคไร้พรมแดนนั้น การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และใช้ต้นทุนในการลงทุนต่ำ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกหน่วยงาน และอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวได้ จึงเป็นความจำเป็นที่ทุกคนต้องให้ความสนใจและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่นี้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างเต็มที่
อินเตอร์เน็ต ถือเป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สากลที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ภายใต้มาตรฐานการสื่อสารเดียวกัน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารและสืบค้นสารสนเทศจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น อินเตอร์เน็ตจึงเป็นแหล่งรวมสารสนเทศจากทุกมุมโลก ทุกสาขาวิชา ทุกด้าน ทั้งบันเทิงและวิชาการ ตลอดจนการประกอบธุรกิจต่างๆ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้อินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมแพร่หลายคือ
1. การสื่อสารบนอินเตอร์เน็ต ไม่จำกัดระบบปฏิบัติการของเครื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ที่ต่างระบบปฏิบัติการกันก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้
2. อินเตอร์เน็ตไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะทาง ไม่ว่าจะอยู่ภายในอาคารเดียวกันห่างกันคนละทวีป ข้อมูลก็สามารถส่งผ่านถึงกันได้
3. อินเตอร์เน็ตไม่จำกัดรูปแบบของข้อมูล ซึ่งมีได้ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อความอย่างเดียว หรืออาจมีภาพประกอบ รวมไปถึงข้อมูลชนิดมัลติมีเดีย คือมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและมีเสียงประกอบด้วยได้ คำอื่นที่ใช้ในความหมายเดียวกับอินเตอร์เน็ต คือ Information Superhighway และ Cyberspace
3. อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย
ประเทศไทยได้เริ่มมีการติดต่อเชื่อมโยงเข้าสู่อินเตอร์เน็ตในพ.ศ. 2535 โดยเริ่มที่สำนัก วิทยบริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เช่าวงจรสื่อสารความเร็ว 9600 บิตต่อวินาทีจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2536 เนคเทคได้เช่าวงจรสื่อสารความเร็ว 64 กิโลบิตต่อวินาที ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการขนถ่ายข้อมูล ทำให้ประเทศไทยมีวงจรสื่อสารระหว่างประเทศ 2 วงจร หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมเชื่อมโยงเครือข่ายในระยะแรกๆ ได้แก่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และต่อมาได้ขยายไปยังหน่วยงานราชการอื่นๆ
สำหรับภาคเอกชน ได้มีการก่อตั้งบริษัทสำหรับให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เอกชนและบุคคลทั่วไปที่นิยมเรียกกันว่า ISP (Internet Service Providers) หลายราย เช่น ศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (Internet Thailand) บริษัทเคเอสซีคอมเมอร์เชียลอินเตอร์เน็ตจำกัด (Internet KSC) บริษัทล็อกซเลย์อินฟอร์เมชันจำกัด (Loxinfo) เป็นต้น โดยในการพิจารณาเลือกใช้บริการจาก ISP เอกชนเหล่านี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ
1. อัตราค่าใช้จ่ายโดยรวม ทั้งค่าสมัครเป็นสมาชิกและค่าใช้จ่ายเป็นรายครั้ง รายเดือน หรือรายปี
2. คำนวนคู่สายโทรศัพท์ ว่ามีให้ใช้ติดต่อมากเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้ามีไม่มากก็จะเสียเวลารอคอยนานกว่าจะเชื่อมต่อได้
3. ความเร็วของสายที่ใช้
4. พื้นที่ในการให้บริการ ควรเลือกใช้ ISP ที่อยู่ในจังหวัด หรือพื้นที่ใกล้เคียงจะเหมาะสมกว่า เพราะ ISP ส่วนใหญ่มักให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร

ความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

พ.ศ. 2530 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติได้ริเริ่มโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อเชื่อมโยงศูนย์คอมพิวเตอร์ของหลายมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันด้วยระบบสื่อสารแบบ X.25 และให้ทุนอุดหนุนการจัดทำข้อมูลบัตรรายการห้องสมุดแก่สถาบันต่างๆจำนวนมาก [1] นับว่าเป็นการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงภายในประเทศ แต่ไม่มีการเชื่อมต่อกัยอินเทอร์เน็ต
ในปีเดียวกันมีการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เป็นครั้งแรก โดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศออสเตรเลีย และเริ่มใช้งานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (เดือนมิถุนายน) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ทั้งนี้เชื่อมต่อเป็นการใช้โมเด็มต่อผ่านสายโทรศัพท์ ต่อมามีคณาจารย์จากสถาบันอื่นๆเข้าร่วมอีกหลายท่าน เช่น จากธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และอัสสัมชัญ [1,2] ในการทำงาน ทางมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นเป็นผู้โทรเข้ามาที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยวันละสองครั้งเพื่อแลก “ถุงไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์” และเขาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายช่วยเรา [3,4]
พ.ศ. 2534 อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีเครือข่ายต่างๆเชื่อมกันประมาณ 5,000 เครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกันประมาณ 700,000 เครื่อง และมีผู้ใช้งานประมาณ 4,000,000 คน ในกว่า 36 ประเทศ [10]
พ.ศ. 2535 ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายไทยสารขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยเนคเทค ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆเช่นมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์แรกคือการทำให้นักวิชาการไทยทั้งจากภาครัฐและเอกชนสามารถแลกเปลี่ยนจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กันได้ทั่วโลก ทั้งนี้มีคณะทำงานจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (NECTEC Email Working Group หรือ NEWgroup) เป็นผู้ช่วยกันพัฒนา และมีผู้ใช้แรกเริ่มเพียง 28 ท่าน จาก 20 หน่วยงาน โดยใช้คอมพิวเตอร์ 8 เครื่อง เชื่อมต่อกันผ่านสายโทรศัพท์ โดยใช้ซอฟต์แวร์ UUCP และ MHSNet [2] โดยในเดือนเมษายน ประเทศไทยมีรหัสอักขระมาตรฐานประกาศในร่างมาตรฐาน ISO-10646 และในเดือนกรกฎาคมประเทศไทยได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มเวลา (ผ่านวงจรเช่าต่างประเทศ ระหว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท UUNET) ด้วยความเร็ว 9,600 บิต/วินาที และในเดือนธันวาคม มีสถาบันไทยรวม 6 แห่ง ที่เชื่อมโยงกันด้วยวงจรเช่าแบบถาวรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้คลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ได้แก่ เนคเทค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย) [1]
พ.ศ. 2536 เนคเทคเปิดใช้วงจรต่างประเทศความเร็วปานกลาง (64kbps) ขึ้นเป็นวงจรแรก เพื่อทำให้ผู้ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยได้รับและส่งข้อมูลได้โดยสะดวกยิ่งขี้น และในเดือนสิงหาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ปรับปรุงวงจร 9,600 bps เป็น 64kbps ด้วย ในเดือนสิงหาคม ได้มีการเริ่มนำระบบ Linux Operating System เข้ามาใช้งานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเดือนตุลาคม ได้เปิดบริการ WWW เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเช่นเดียวกัน คือ www.nectec.or.th ซึ่งทำหน้าที่แนะนำประเทศไทยให้กับทั่วโลกเป็นภาษาอังกกฤษ ภายใต้ชื่อ Thailand the Big Picture และเปิดบริการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 7 ปีจนถึงปัจจุบัน [1] ในปีนั้น เครือข่ายไทยสารมีหน่วยงานเชื่อมต่ออย่างถาวรรวม 19 หน่วยงาน [3]
พ.ศ. 2537 เป็นปีที่ประเทศไทยนำเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสองเครื่อง ต่อเข้ากับเครือข่ายไทยสาร-อินเทอร์เน็ต เครื่องแรก คือ MasPar ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (เดือนกุมภาพันธ์) และเครื่องที่สอง คือ Cray Supercomputer รุ่น EL98 (เดือนพฤษภาคม) และในเดือนกรกฎาคม ได้มีการสาธิตการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2 ล้านบิตต่อวินาที ระหว่างเนคเทค กับงานวันสื่อสารแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในเดือนกรกฎาคม เพื่อสาธิตระบบมัลติมีเดียและการประชุมทางไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (IP Video Conference) ในปีนี้ เครือข่ายไทยสารได้เชื่อมโยงสถาบันอุดมศึกษาได้ 34 แห่ง ใน 27 สถาบัน [1] และ [3]
พ.ศ. 2538 เป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเปิดศักราชด้วยการที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เปิดบริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ก่อตั้งบริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (การร่วมทุนระหว่างเนคเทค/สวทช. กับ กสท. และ ทศท.) เป็นผู้ให้บริการรายแรก ซึ่งได้มีการเริ่มบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม 2538 และตั้งแต่เดือนมิถุนายนก็เริ่มมีผู้ให้บริการอื่นเริ่มได้รับอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ถูกกฎหมาย ในเดือนมีนาคมปีนี้ ก็เป็นการเริ่มโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย หรือ SchoolNet โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการรุ่นแรก 30 โรงเรียน
การใช้อินเทอร์เน็ตหลังจากปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เริ่มเป็นที่แพร่หลายและเป็นข่าวออกสู่หน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำ และค่อนข้างจะหาเอกสารอ้างอิงต่างๆได้ง่าย อย่างไรก็ดี ก็มีเหตุการณ์ต่างๆที่ควรแก่การบันทึกดังนี้
มีนาคม 2538 องค์กรเอกชนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างถาวรด้วยความเร็ว 64kbps รายแรก คือ ธนาคารไทยพาณิชย์
มิถุนายน 2538 มีการขยายวงจรต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น คือ 512kbps โดยศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย และในเดือนเดียวกัน ได้มีการรายงานผลการเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ต โดย นสพ.บางกอกโพสต์ร่วมกับเนคเทค
กันยายน 2538 ประเทศไทยเปิดใช้วงจรอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระหว่างประเทศ 2 ล้านบิตต่อวินาทีเป็นวงจรแรกของ วงจรนี้เชื่อมเนคเทคกับNACSIS (National Center for Science Information Systems) ในประเทศญี่ปุ่น เป็นความร่วมมือเพื่อการศึกษาวิจัย โดยสถาบันเป็นสมาชิกเครือข่ายไทยสารทุกแห่งสามารถเข้าถึงสถาบันต่างๆในญี่ปุ่นได้จากวงจรนี้ได้

กุมภาพันธ์ 2539 ประเทศไทยเริ่มเปิดใช้วงจรความเร็วสูงเพื่ออินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาโดยผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสง ทั้งนี้เป็นการลงทุนเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด เอเซีย-ยุโรป พร้อมกับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้แก่ผู้สื่อข่าวจากทั่วโลก และบุคคลสำคัญได้อย่างเต็มภาคภูมิ [5]
วันที่ 5 ธันวาคม 2539 เวลา 9.09 น. ได้มีการเปิดบริการข้อมูลเครือข่ายกาญจนาภิเษก ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ http://kanchanapisek.or.th เพื่อเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และผลงานของหน่วยงานต่างๆกว่าสิบหน่วยงาน ที่ทำงานสนองพระราชดำริ รวมถึงกิจกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคมต่างๆ และในโอกาสต่อมา ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดเครือข่ายกระจายความรู้แก่ประชาชน ให้บุคคลทั่วไป เข้าถึงข้อมูลเครื่อข่ายกาญจนาภิเษกได้ผ่านเลขหมายออนไลน์ 1509 ได้จากทุกแห่งในประเทศไทยโดยไมต้องเสียค่าสมาชิกและค่าโทรศัพท์ทางไกล [1] เครือข่ายนี้ ต่อมาได้รับพระราชานุญาตให้นำมาใช้เป็น access network สำหรับโรงเรียนทั่วประเทศในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยทรงเปิดเครือข่ายใหม่ ที่เชื่อมเครือข่ายกระจายความรู้ฯ กับเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยเข้าด้วยกัน เรียกว่า SchoolNet@1509 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2541 [6] ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จัดระบบอินเทอร์เน็ตฟรีให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อลดความด้อยโอกาสของโรงเรียนที่อยู่ในชนบท ก่อนที่จะมีการกล่าวถึงคำว่า “digital divide” ในเวทีนานาชาติ
พ.ศ. 2542 แม้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และในวงการคอมพิวเตอร์ต่างก็ต้องกังวลเรื่องการแก้ปัญหา Y2K แต่จัดได้ว่าเป็นปีแห่งการเพิ่มความเร็วของวงจรอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ในเดือนมกราคม มีวงจรต่างประเทศระดับ 8 ล้านบิตต่อวินาทีถึงสองวงจร คือของอินเทอร์เน็ตประเทศไทย และของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ทั้งสองวงจรเป็นวงจรใยแก้วคุณภาพสูง ในเดือนเมษายน มีเพิ่มอีกหนึ่งวงจร คือของ KSC (เป็นวงจรดาวเทียม 8 Mbps) และในเดือนตุลาคม KSC เป็นรายแรกที่เปิดใช้วงจรต่างประเทศขนาด 34 Mbps (เป็นวงจรดาวเทียม แบบ Simplex คือ ส่งข้อมูลเข้าประเทศไทยทิศทางเดียว) เมื่อถึงสิ้นปี ประเทศไทยมีวงจรต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 118.25 Mbps [8]
พ.ศ. 2543 ซึ่งเริ่มเป็นปีที่เงินบาทเริ่มคงตัว และหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ (NPL) เริ่มลดลง การเพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ตทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้เพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติเปรียบเทียบดังนี้
จะเห็นได้ชัดว่า ในต้นปี 2543 ความเร็วของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นถึง 209% (คือเพิ่มเป็นสามเท่า) จากเดือนเดียวกันในปี 2542 ส่วนในเดือนมกราคม 2544 เป็นการเพิ่มเป็นสองเท่าจากในปี 2542 สำหรับอัตราการเพิ่มของการไหลเวียนข้อมูลในประเทศ ก็มีการเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงกว่าปีละ 160% ทั้งสามปีติดต่อกันดังตารางข้างล่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น